รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหากรณีน้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ย้ำ!! ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ขณะนี้ถือเป็นวิกฤต สั่งการด่วน!!! ให้ทุกหน่วยงานระดมเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำเค็มออกนอกพื้นให้เห็นผลโดยเร็ว

วันนี้ (18 เม.ย.2567) เวลา 13.30 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สถานีสูบน้ำท่าถั่ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์ หลังทำนบดินงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่วทรุดตัวลง เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ไม่มีประปาภูมิภาค ชาวบ้านใช้ประปาหมู่บ้าน ซึ่งน้ำดิบที่นำมาผลิตประปา เป็นน้ำจากคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งกรณีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นชลประทาน แขวงการทาง ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ระดมกำลังให้ความช่วยเหลือ โดยนำรถบรรทุกน้ำให้ประชาชนตามบ้านเรือนในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกคลองประเวศฯ กรมชลประทานได้ดำเนินปิดประตูระบายน้ำและทำนบดิน ในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาต่างๆ เพื่อสกัดกั้นน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้าภายในคลอง พร้อมทั้งก่อสร้างทำนบกึ่งถาวร ทดแทนทำนบดินชั่วคราวเดิม เพื่อช่วยป้องกันปัญหาน้ำเค็มไหลย้อนเข้าคลองได้อย่างถาวร และติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำเค็มสู่แม่น้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนผ่านประตูระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อลำเลียงน้ำไปสู่คลองนครเนื่องเขต นอกจากนี้ยังได้วางแผนก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวบริเวณคลองนครเนื่องเขต เพื่อยกระดับน้ำให้ไหลเข้าคลองเปรงและคลองประเวศฯ เพื่อช่วยเจือจางน้ำเค็มให้เร็วที่สุด และเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาในคลองเพื่อลดการเน่าเสียของน้ำ

โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความกังวลในเรื่องของปัญหาระยะยาวหลังจากนี้ที่อาจมีผลต่อพี่น้องเกษตรกร และผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของดินที่จะมีผลกระทบกับแปลงข้าวของเกษตรกร และจากรายงานของนางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และนางฐิติมา ฉายแสง ส.ส. ฉะเชิงเทรา เขต 1 ซึ่งได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้ให้ข้อมูลว่า นอกจากปัญหาดินเค็มแล้ว สิ่งที่กังวลยังเป็นเรื่องของน้ำที่เน่าเสีย เนื่องจากผักตบชวาและสัตว์น้ำที่ตายเป็นจำนวนมาก

สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำเค็มออกนอกพื้นให้เห็นผลโดยเร็วที่สุด โดยให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดมกำลังลงมาช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบใน 2 จังหวัด ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นวิกฤต และให้จัดตั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉินของกระทรวงเกษตรโดยมอบหมายให้นายทวีศักดิ์ ธนเดชโชพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานศูนย์ฯ นางสาวอิงอร ปัญญากิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานศูนย์ฯ นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายอำเภอบ้านโพธิ์ ร่วมเป็นที่ปรึกษา โดยมีรองอธิบดีในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกกรมร่วมบูรณาการดูแล แก้ไขปัญหา จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar