“รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐”

วันศุกร์ที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ ห้องเทพราช โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐ (ฉบับทบทวน) และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ โดยมีคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนราชการทั้งราชการบริหารส่วนภูมิภาคและราชการบริหารส่วนกลาง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมในการประชุมฯ วันนี้

นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีประชากรกว่า ๗๒๐,๐๐๐ คน ยังมีประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าว มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เป็นอันดับที่ ๘ ของประเทศ และเป็นอันดับ ๓ ของภาคตะวันออก รองจากจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม และการบริการ ส่วนภาคการเกษตรมีผลิตภัณฑ์มวลรวมน้อยที่สุด แสดงให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม แต่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ มีหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม วรวิหาร เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวฉะเชิงเทรา มีวัดสมานรัตนาราม วัดหงษ์ทอง ซึ่งมีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงมีหลายมิติ ทั้งปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเจริญเติบโตของเมืองและภาคอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพ น้ำเสีย มลภาวะทางอากาศ และยังมีผลกระทบจากภัยช้างป่า จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะ ๒๐ ปี ให้เป็น “เมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีและเติบโตอย่างชาญฉลาด มีเศรษฐกิจมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วน รองรับ EEC” โดยเป้าหมายในการพัฒนาในระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ได้กำหนดให้เป็น “เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน พัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ smart city และ EEC” ทั้งนี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำข้อมูลปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วนจัดทำเป็นแผนแม่บทขับเคลื่อนงานในพื้นที่ จาก D-CAST สู่ P-CAST ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) P-CAST 1 ด้านเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาคน สร้างชุมชนยั่งยืน ๒) P-CAST 2 ด้านระบบนิเวศ ดินดี น้ำสะอาด อากาศไม่เสีย และ ๓) P-CAST 3 ด้านสาธารณภัย ช้างย้าย คนยิ้ม สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนฯ ครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึง ๓ ปัจจัยหลัก คือ ๑) ปัญหา (problem) ๒) วิธีการแก้ปัญหา (Solution) และ ๓) ผลลัพธ์ (Outcome) และสิ่งที่สำคัญ “แผนที่ดี สะท้อนถึงการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ” ดังนั้น การสื่อสาร ทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ในการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ และกิจกรรม จะต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่ให้กับประชาชน และขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน

 


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar